Our Article
“EPIC-N เป้าหมายของโมเดล
และโอกาสในการเข้าร่วม”
โดย Prof. Dr. Joel Rogers, EPIC-N Chair and CEO, Noam Chomsky Professor of Law, Public Affairs, & Sociology,
University of Wisconsin-Madison
และโอกาสในการเข้าร่วม”
โดย Prof. Dr. Joel Rogers, EPIC-N Chair and CEO, Noam Chomsky Professor of Law, Public Affairs, & Sociology,
University of Wisconsin-Madison
year 2025
Share on facebook
Facebook
Share on google
Google+
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn
Share on whatsapp
WhatsApp

ภาพที่ 1 ภาพถ่ายรวมของผู้เสวนาและผู้บรรยาย
หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat University Research Unit in Urban Futures & Policy Research Unit หรือ UFP) ร่วมกับ องค์กร START International (หรือ Global Change System for Analysis, Research, and Training) ที่ทางหน่วยวิจัยฯ ได้เป็นพันธมิตรระดับภูมิภาค หรือ Regional Affiliate และโครงการ EPIC-N หรือ (Educational Partnerships for Innovation in Communities Network) ซึ่งทางหน่วยวิจัย UFP เป็นผู้ประสานงานระดับเอเชีย (Asia coordinator) ได้ร่วมจัดงาน “สัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติ การวางแผนและผังเมือง และการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อส่งเสริมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเมืองสำหรับทุกคน” เป็นเวทีสำคัญที่รวบรวม ผู้นำชุมชน นักผังเมือง ผู้กำหนดนโยบาย สถาปนิก และนักวิจัยจากทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความร่วมมือ และพัฒนากลยุทธ์เชิงปฏิบัติที่ตอบโจทย์ความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม พ.ศ. 2568
จากบทความครั้งที่แล้วที่หน่วยวิจัยฯ ได้เล่าถึงการสร้างเมืองที่คาร์บอนต่ำ: ความท้าทายและช่องว่างที่ควรดำเนินการ บรรยายโดย ดร.นุวงศ์ ชลคุป การพัฒนาด้านพลังงานต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและวิสัยทัศน์ของผู้กำหนดนโยบาย การวางแผนอย่างเป็นรูปธรรม เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง การมีชุมชนและภาคส่วนเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน
ในครั้งนี้ หน่วยวิจัยฯ จะมาเล่าถึงการบรรยายจาก Keynote Speaker ท่านต่อไป เป็นหนึ่งในเจ้าภาพของงาน ที่หน่วยวิจัยฯ ได้เชิญมาร่วมบรรยายภายในงาน ทางหน่วยวิจัยฯ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เชิญ Prof. Dr. Joel Rogers มาบรรยายในหัวข้อ “EPIC-N เป้าหมายของโมเดลและโอกาสในการเข้าร่วม” Prof. Dr. Joel Rogers ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย กิจการสาธารณะ และสังคมวิทยา ในตำแหน่ง Noam Chomsky Professor ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน–แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) โดยเขายังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของศูนย์ Havens Wright Center for Social Justice และศูนย์ High Road Strategy Center อีกด้วย Prof. Dr. Joel เป็นผู้เขียนงานวิชาการจำนวนมากเกี่ยวกับการเมืองพรรค การเมืองแบบประชาธิปไตย และการพัฒนาเมือง นอกจากนี้ยังมีบทบาทในฐานะพลเมืองที่กระตือรือร้น และที่ปรึกษาให้กับนักการเมืองและผู้นำขบวนการทางสังคมหลากหลายราย เขาเคยร่วมก่อตั้งและเป็นผู้นำองค์กรภาคประชาสังคมแนวก้าวหน้า เช่น พรรค New Party (ซึ่งปัจจุบันคือ Working Families Party), องค์กร EARN, WRTP, เครือข่าย Apollo Alliance (ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ Blue Green Alliance), Emerald Cities Collaborative, State Innovation Exchange และ EPIC-N เขายังเป็นบรรณาธิการร่วมให้กับนิตยสาร The Nation และ Boston Review อีกด้วย ร็อจเจอร์สได้รับรางวัล MacArthur Fellowship และได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Newsweek ให้เป็นหนึ่งใน “100 ชาวอเมริกันที่มีชีวิตอยู่ซึ่งมีแนวโน้มจะสร้างอิทธิพลต่อการเมืองและวัฒนธรรมของสหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 21”

ภาพที่ 2 Prof. Dr. Joel Rogers, EPIC-N Chair and CEO, Noam Chomsky Professor of Law, Public Affairs, & Sociology, University of Wisconsin-Madison
Prof. Dr. Joel Rogers ได้เล่าถึงลักษณะของ EPIC-N Model ที่เป็นรูปแบบการมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน เพื่อเป็นแนวทางที่ช่วยแก้ไขปัญหาทั่วไปที่เกิดขึ้นในตลาดสองด้าน (two-sided market failure) ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ โมเดลนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าให้ผลลัพธ์ที่ดีและเป็นรูปธรรมแก่ผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชุมชน คณาจารย์ หรือ นักศึกษา นอกจากนี้ โมเดลนี้ยังสามารถนำไปปรับใช้ซ้ำได้ง่าย ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างรวดเร็ว
ความเป็นมาของ EPIC-N Model เกิดขึ้นจากการสังเกตปัญหาหรือความล้มเหลวนี้เป็นโอกาสที่สูญเสียไป ดังนี้
1.มหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองและมอบปริญญาจากทั่วโลกกว่า 35,000 แห่ง เป็นแหล่งรวมขององค์ความรู้ส่วนใหญ่ของโลก และมีนักศึกษามากกว่า 250 ล้านคนที่มุ่งมั่นอยากนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม
2.ขณะเดียวกัน ชุมชนต่าง ๆ ทั่วโลกนับหลายล้านแห่งยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตนเองตั้งไว้ได้อย่างเต็มที่ หรือแม้แต่เข้าใกล้ศักยภาพของมนุษย์ที่พึงจะเป็น และชุมชนเหล่านี้สามารถได้รับประโยชน์อย่างมากจากความรู้และแรงงานของนักศึกษา
3.แต่ความรู้จากมหาวิทยาลัยและแรงสนับสนุนจากนักศึกษากลับแทบไม่ได้ถูกนำเสนอแก่ชุมชนในรูปแบบที่เข้าถึงได้ เคารพบริบทของชุมชน และใช้งานได้จริง
4.สาเหตุหลักของปัญหาจากความแตกต่างของวัฒนธรรมองค์กรและแรงจูงใจภายในแต่ละฝ่ายและไม่มี “สื่อกลาง” ที่น่าเชื่อถือในการแลกเปลี่ยน โมเดล EPIC จึงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางนั้น ด้วยการให้นักศึกษาทำงานภายใต้การดูแล เพื่อบรรลุเป้าหมายที่สามารถวัดผลได้
เพราะฉะนั้นจากปัญหาและความล้มเหลวงที่เกิดขึ้น จึงกลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของโมเดล EPIC คือ
1.ยอมรับโครงสร้างการบริหาร ความรับผิดชอบ และแรงจูงใจที่มีอยู่เดิม ของทั้งมหาวิทยาลัยและชุมชน (รวมถึงกิจกรรมหรือโครงการดี ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่แล้ว) โดยไม่พยายามรื้อสร้างใหม่
2.สอบถามความต้องการของชุมชนอย่างเรียบง่ายและให้เกียรติ โดยดูว่าชุมชนต้องการความช่วยเหลือในประเด็นใดบ้าง และคัดกรองตามกรอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขอ’สหประชาชาติ (UN SDGs)
3.จับคู่ความต้องการของชุมชนเข้ากับเนื้อหาวิชาและเป้าหมายการเรียนรู้ของหลักสูตรที่มีอยู่แล้ว พร้อมให้นักศึกษาผลิตผลงานตามความต้องการของชุมชน (โดยมีอาจารย์ที่ยินดีดูแลและให้หน่วยกิตในรายวิชา) ซึ่งผลงานนั้นต้องเป็นสิ่งที่ชุมชนมองว่ามีประโยชน์
4.ทำสัญญากับชุมชนเกี่ยวกับผลงานที่จะส่งมอบ โดยขอให้ชุมชนมีส่วนช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการการจับคู่และการส่งมอบผลงานนั้น
ผลลัพธ์จากการดำเนินงานพบว่าประสบความสำเร็จ! ผ่านโครงการสมาชิกของเครือข่าย EPIC (EPIC Programs) เครือข่าย EPIC-N ได้ดำเนินโครงการที่ส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มากกว่า 2,200 โครงการ ใน ชุมชนหลากหลายกว่า 350 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนอย่างสูงจากพันธมิตรในพื้นที่ และมี ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) โดยเฉลี่ยมากกว่า 500%
ผลลัพธ์ทั้งหมดสามารถตรวจสอบและยืนยันได้ใน “Project Library” ซึ่งอยู่ในส่วนของ “Member Commons” บนเว็บไซต์ (สามารถเข้าถึงได้ฟรี แต่ต้องยืนยันตัวตนก่อน)
ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ EPIC-N Model ได้ที่ลิงก์นี้: https://www.epicn.org/
ผู้เข้าร่วมทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์ นักศึกษา หรือพันธมิตรในชุมชน จะได้รับการสำรวจหลังจบโครงการ เพื่อประเมินคุณภาพของประสบการณ์และผลกระทบของผลงานที่ได้ร่วมกันสร้างขึ้น ซึ่งคะแนนความพึงพอใจ (Promoter Scores) จากทั้งสามกลุ่ม สูงกว่า 8 และผลตอบแทนจากการลงทุนของชุมชน (ROI) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ มากกว่า 500% ในอีกไม่กี่ปีถัดมา ยังมีการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนในระยะยาว โดยใช้กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นเครื่องมือในการวัด
สำหรับนักศึกษา ประสบการณ์จากโครงการ EPIC ทำให้พวกเขา มีสมาธิกับการเรียนด้านอื่นมากขึ้น และ เพิ่มความสนใจในงานบริการสาธารณะในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักศึกษาที่มาจากพื้นฐานครอบครัวหรือสังคมที่ด้อยโอกาสจะได้รับผลลัพธ์เชิงบวกที่เด่นชัดเป็นพิเศษ
