ความท้าทายของภูมิอากาศและโอกาสในการพัฒนาชุมชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย คุณสมสุข บุญญะบัญชา อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และเลขาธิการมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย (ACHR)

Our Article

ความท้าทายของภูมิอากาศและโอกาสในการพัฒนาชุมชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดย คุณสมสุข บุญญะบัญชา
อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และเลขาธิการมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย (ACHR)

year 2025

Share on facebook
Facebook
Share on google
Google+
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn
Share on whatsapp
WhatsApp

ภาพที่ 1 ภาพถ่ายรวมของผู้เสวนาและผู้บรรยาย

หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat University Research Unit in Urban Futures & Policy Research Unit หรือ UFP) ร่วมกับ องค์กร START International (หรือ Global Change System for Analysis, Research, and Training) ที่ทางหน่วยวิจัยฯ ได้เป็นพันธมิตรระดับภูมิภาค หรือ Regional Affiliate และโครงการ EPIC-N หรือ (Educational Partnerships for Innovation in Communities Network) ซึ่งทางหน่วยวิจัย UFP เป็นผู้ประสานงานระดับเอเชีย (Asia coordinator) ได้ร่วมจัดงาน “สัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติ การวางแผนและผังเมือง และการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อส่งเสริมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเมืองสำหรับทุกคน” เป็นเวทีสำคัญที่รวบรวม ผู้นำชุมชน นักผังเมือง ผู้กำหนดนโยบาย สถาปนิก และนักวิจัยจากทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความร่วมมือ และพัฒนากลยุทธ์เชิงปฏิบัติที่ตอบโจทย์ความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม พ.ศ. 2568

จากบทความครั้งที่แล้วที่หน่วยวิจัยฯ ได้เล่าถึงความท้าทายของภูมิอากาศและโอกาสในการออกแบบชุมชนเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรยายโดย Prof. Dr. Jeffrey Hou ที่ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของชุมชนที่มีความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบทบาทการจัดการตนเองของชุมชนที่สามารถเตรียมพร้อมและจัดการภายในชุมชนได้เอง เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติที่เกิดขึ้น

ในครั้งนี้ หน่วยวิจัยฯ จะมาเล่าถึงการบรรยายจาก Keynote Speaker ท่านต่อไปที่หน่วยวิจัยฯ ได้เชิญมาร่วมบรรยายภายในงาน ทางหน่วยวิจัยฯ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เชิญ คุณสมสุข บุญญะบัญชา อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และเลขาธิการมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย (ACHR) มาบรรยายในหัวข้อ “ความท้าทายของภูมิอากาศและโอกาสในการพัฒนาชุมชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” คุณสมสุขมีประสบการณ์กว่า 40 ปีในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนยากจนในเขตเมือง และได้ทำงานอย่างกว้างขวางในประเทศไทยและทั่วเอเชียในโครงการพัฒนาสลัมและที่อยู่อาศัยที่นำโดยชุมชน งานของเธอรวมถึงสวัสดิการชุมชน กองทุนออมทรัพย์ และการฟื้นฟูจากภัยพิบัติ คุณสมสุขจะพูดถึงความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อชุมชน และกาพัฒนาชุมชนเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภาพที่ 2 คุณสมสุข บุญญะบัญชา อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และเลขาธิการมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย (ACHR)

คุณสมสุข เล่าถึงบริบทของการพัฒนาเมืองและการจัดการความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเชีย การบริหารจัดการโดยระบบรัฐบาลที่มักเป็นระบบบนลงล่าง (Top-down) ถูกวิจารณ์ว่ามีข้อจำกัดอย่างมากในแง่ของการบูรณาการความรู้ การมีส่วนร่วม และการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีบทบาทในเชิงรุก เห็นได้ชัดผ่านการโครงการการพัฒนาเมืองส่วนใหญ่ที่มีความเป็น project/legal-based ที่ขาดการสื่อสารองค์ความรู้ให้กับคนทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มชนชายขอบ ทั้งนี้ปัญหาหลักคือ การขาดอำนาจในการการรวมข้อมูล การจัดหาแหล่งเงิน การดำเนินพัฒเมือง และการขาดแผนปฏิบัติที่ใช้ได้จริง

สถานการณ์ในปัจจุบันที่การวางแผนเมืองที่ขาดแนวคิดการสร้างและเชื่อมโยงชุมชนเมืองในเรื่องการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ปัญหาดังกล่าวนำมาซึ่งการตั้งคำถามว่า “เราจะวางแผนเพื่อชุมชนในสังคมเมืองอย่างไร” ทั้งนี้หลักการที่สำคัญข้างต้น คือ การมี area-based และการมุ่งเน้นไปที่ระดับเมือง (city scale) ที่มีความร่วมมือและกระจายอำนาจกัน มิใช่แค่การทำโครงการพื้นที่ต้นแบบ แต่เป็นการศึกษาที่นำไปสู่ความเชื่อมโยงและต่อยอด ดังนี้

แนวทางในการแก้ปัญหา:
1.การสร้างแนวคิดการพัฒนาเมืองที่เน้น “คนเป็นศูนย์กลาง”: การเปลี่ยนการพัฒนาเมืองจากการเน้นโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นการพัฒนาที่มุ่งเน้นความเป็นอยู่ของประชาชนและความเชื่อมโยงระหว่างชุมชน

2.การจัดการพื้นที่แบบบูรณาการและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน: พัฒนาแนวทาง “Area-Based” ที่เชื่อมโยงคนในทุกกลุ่ม รวมถึงสถาบัน ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรภาคประชาสังคม พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความสามารถ และสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม

3.การใช้โครงการและงานวิจัยเป็นเครื่องมือสร้างโครงสร้างชุมชน: โครงการทุกโครงการควรถูกมองเป็น “เครื่องมือ” ในการสร้างความร่วมมือระหว่างประชาชนและองค์กร และการใช้โครงการเพื่อพัฒนาการแลกเปลี่ยนความรู้ การสร้างโครงสร้างความร่วมมือใหม่ และการสร้างความไว้วางใจ

4.การสร้างระบบการเงิน การวางแผน และกฎระเบียบที่รองรับการเปลี่ยนแปลง: การพัฒนาระบบการเงินและการวางแผนแบบมีส่วนร่วม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการกระจายอำนาจและความร่วมมือระหว่างสถาบัน พร้อมทั้งการทำให้กฎระเบียบมีความพลวัตเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

5.การสร้างแรงผลักดันทางการเมืองผ่านการกระทำร่วมกัน: การกระทำร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม เช่น การวิจัย การประชุม หรือกิจกรรม สามารถเป็นแรงผลักดันที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและนโยบาย

ตัวอย่างการดำเนินงานของชุมชน: การบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 ในประเทศไทยมีการระดมกำลังจากเครือข่ายชุมชนเมืองกว่า 1,000 แห่ง เพื่อระบุความต้องการ สนับสนุนครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ และจัดหาบริการที่จำเป็น (เช่น โรงครัวชุมชน การแจกจ่ายสิ่งของจำเป็น) และชุมชนได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น คนตกงาน เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพื่อนำข้อมูลนี้ไปใช้สำหรับการช่วยเหลือที่ตรงเป้าหมาย

ภาพที่ 3 คุณสมสุข บุญญะบัญชา ขณะบรรยายแนวทางในการแก้ปัญหาการบูรณาการความรู้และกระบวนการมีส่วนร่วม

คุณสมสุขชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของการพัฒนาเมืองในระบบบนลงล่าง (Top-Down) ในแง่กระบวนการเรียนรู้ การกระจายความรู้ไปสู่ชุมชน และการยึดศูนย์กลางชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะกลุ่มชายขอบที่ขาดอำนาจ ความรู้ และข้อมูลที่เขาจะสามารถมาพัฒนาชุมชนของตนเองได้ เฉพาะฉะนั้นการแก้ไขปัญหานี้จะต้องยึด “คนเป็นศูนย์กลางเมือง” ที่มุ่งเน้นพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนแบบบูรณาการและการมีส่วนร่วมของชุมชน การร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อร่วมวิจัยและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน การส่งเสริมสร้างระบบการเงินและสร้างแรงผลักดันทางการเมืองให้ชุมชนมีบทบาทในการตัดสินใจและมีความมั่งคง สำหรับบทความต่อไปจะพูดถึงการสร้างเมืองที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง: ความท้าทายและช่องว่างที่ควรดำเนินการ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ ที่จะเล่าแนวทางการพัฒนาเมืองที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

👉👉👉โปรดติดตาม รายละเอียดและความร่วมมือใหม่ ๆ ได้จากทางหน้าเพจของ Urban Futures and Policy ต่อไป...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.